ตามหลักความเสร็จในชีวิตที่มาสโลว์ได้กล่าวเอาไว้ มีอยู่ข้อหนึ่งที่มันสะดุดกับแนวคิดของเราคือ ความต้องการความสมบูรณ์ของชีวิต (Self-Actualization Needs) ซึ่งเป็นความต้องการขั้นสูงสุด ที่มนุษย์น้อยคนจะไปถึงได้ ความต้องการนี้มาสโลว์ได้อธิบายไว้ว่า “มันเป็นความต้องการและความปรารถนาที่มนุษย์จะใช้ความสามารถและศักยภาพที่มีทั้งหมดในการสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ เท่าที่เขาพึงจะทำได้ตามศักยภาพ เช่น เมื่อเป็นนักดนตรีก็พยายามพัฒนาตนเองให้เป็นนักดนตรีที่เล่นเก่งที่สุด ด้วยการฝึกฝน เป็นต้น” นี่คือสิ่งที่นักปรัชญาระดับโลกพูดถึง “ความต้องการความสมบูรณ์ของชีวิต” ถ้าถามว่าเรากำลังเห็นด้วยกับคำกล่าวนี้ของมาสโลว์หรือไม่ คำตอบคือเราเห็นด้วย แต่ทว่าในทัศนคติและความคิดของเรา คำกล่าวนี้จะต้องถูกเพิ่มเติมสิ่งที่สำคัญที่สุดเข้าไปด้วย จึงจะสมบูรณ์และนำมาใช้ได้ เพราะเรามองว่า “ความต้องการความสมบูรณ์ของชีวิต” ต้องมีเป้าหมายที่ไม่เป็นภัยต่อสังคมอยู่ในนั้นด้วย ก่อนที่เราจะสร้างสรรค์สิ่งใดด้วยความสามารถและศักยภาพทั้งหมดที่เรามี เราก็ต้องตั้งเป้าหมาย จดจ่อกับเป้าหมายและเข้าใจเป้าหมายในทุกแง่มุมให้ชัดเจนเสียก่อน จึงจะเกิดการสร้างสรรค์บางสิ่งบางอย่างที่จะส่งผลกระทบเชิงบวก มีประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์หรือโลกนี้ ไม่ใช่แค่การสนองตอบต่อความต้องการของตัวเองเป็นหลักโดยไม่คำนึงถึงสิ่งที่สำคัญดังกล่าว
“ถ้ามนุษย์มีความต้องการที่จะพัฒนาเมืองใหญ่ แต่ไม่คำนึงถึงทรัพยากรธรรมชาติ แล้วอะไรจะเกิดขึ้นละ ก็คงหนีไม่พ้นการสร้างผลเสียที่จะกระทบต่อโลกในระยะยาว ซึ่งอาจจะยากเกินเยียวยาต่อการแก้ปัญหาก็เป็นได้ ดั้งนั้นการพัฒนาศักยภาพของเราต้องล้ำสมัย แต่ไม่ควรละทิ้งรากเหง้าจึงจะเป็นการตอบโจทย์ที่ถูกต้อง ยกตัวอย่างเช่น หากเรามีงบประมาณแสนล้านเพื่อพัฒนาเมือง เราก็ต้องมีแสนล้านเพื่อพัฒนาป่าไม้ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วยมันถึงเรียกว่าการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน”
เอาละชาว “อีฟค่า” เรามีเป้าหมายของชีวิตที่ชัดเจน คือ เราเป็นกลุ่มมนุษย์ที่ต้องการความสมบูรณ์ของชีวิตที่เราเรียกว่า “ความต้องการความสมบูรณ์ของชีวิตในแบบฉบับของอีฟค่า” เราจะย่ำบนเส้นทางของสังคม ซึ่งจำเป็นต้องเดินขนานไปกับความรักและความเข้าใจในรากเหง้าของเรา ความสามารถและศักยภาพทั้งหมดของเราจะถูกขุดขึ้นมาใช้อย่างช้า ๆ โดยเริ่มจากก้าวเล็ก ๆ เราจะเดิน จะสร้างสรรค์ชีวิตในแบบของเรา ที่จะไม่ส่งผลกระทบในแง่ลบต่อสังคมใดๆ ทั้งสิ้น
“ปราชญ์ไม่จำเป็นต้องใส่เสื้อม่อฮ่อมเก่าๆ เพื่อแสดงภูมิว่าตนเป็นปราชญ์, ศิลปินไม่จำเป็นต้องขายงานศิลปะเพียงเพื่อประทังชีวิต , กวีไม่จำเป็นต้องร่ายกาบกลอนมาถ่มถุยโลกเน่าๆใบนี้ , นักธุรกิจก็ไม่จำเป็นต้องรวยล้นฟ้าจากการทำงานบนหลังคนจน , อาจารย์ไม่จำเป็นต้องสอนศิษย์ด้วยคำพูดแต่สามารถสอนด้วยการกระทำ และคนจบด๊อกเตอร์ก็ไม่จำเป็นผู้รู้และถูกต้องเสมอไป เป็นต้น” เฉกเช่นกับความคิดง่ายๆและก้าวน้อยๆของเรา “อีฟค่า” เราทำงานสังคมแต่เราก็จำไม่เป็นต้องยากจนข้นแค้นหรือยึดเอางานสังคมมาเป็นอาชีพ หรือหาประโยชน์จากงานสังคมเลยแม้แต่น้อย หากเราเข้าใจปรัชญาข้อนี้ ในเมื่อเรามีศักยภาพ มีแรงจูงใจที่ยิ่งใหญ่และมากเพียงพอ เราก็สามารถนำความรู้และกระบวนการคิดมาพัฒนาอาชีพของเราได้ไม่ยากนัก มือข้างหนึ่งเราก็กำอาชีพของเราไว้ให้แน่นและยืนหยัดอยู่ในสังคมนี้อย่างมีศักดิ์ศรี และมืออีข้างหนึ่งเราก็จะเอื้อมไปคว้างานสร้างสรรค์สังคมมากำไว้ จากนั้นก็สามารถใช้ศักยภาพที่เรามี ปกป้อง ดูแลบ่มเพาะและพัฒนาสิ่งที่อยู่ในมือทั้งสองข้างนั้น ให้มั่นคงยั่งยืนตลอดไป …
ความสำเร็จของเราไม่ได้อยู่ที่เงินในบัญชี
ความสุขของเราก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับ GDP
เงินสำหรับเราไม่สำคัญ แค่จำเป็น
แค่ทัศนคติ
กิตติศักดิ์ นวลวิลัย
23 พ.ย. 2562