ยิ่งผิดมากยิ่งรู้มาก
ยิ่งเรียนภาษาอังกฤษในแบบฉบับของชาว “อิฟค่า” ก็ยิ่งรักและภูมิใจกับภาษาไทยถิ่นเกิด
ว่าด้วยเรื่องของการเรียนภาษาอังกฤษของเด็กไทย พ่อ-แม่ผู้ปกครองต่างก็เห็นถึงความสำคัญ และทุ่มเทให้ลูกเรียนภาษาของฝรั่ง บางครอบครัวที่มีฐานะดีหน่อยก็ส่งลูกเข้าโรงเรียนนานาชาติ หรือส่งลูกไปศึกษาเล่าเรียนและใช้ชีวิตอยู่ในต่างแดน ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม เพราะเขาตระหนักถึงความสำคัญว่าซักวันนึง ลูกจะต้องนำไปใช้ประกอบการสมัครงานหรือใช้พัฒนาชีวิตต่อไป
แต่สำหรับเราชาว “อีฟค่า” เราไม่เห็นถึงความสำคัญของภาษาอังกฤษที่ไม่ใช่ภาษาแม่ของเราเลยแม้แต่น้อย เราให้ค่าภาษาอังกฤษแค่ “ความจำเป็น” ที่สามารถนำมาใช้แสวงหาความรู้เพิ่มเติมและพัฒนาชีวิตได้เท่านั้น เพราะทุกวันนี้ภาษาอังกฤษ กลายเป็นภาษากลางของโลกที่เราใช้ในการติดต่อสื่อสารซึ่งกันและกันไปโดยปริยาย ภาษาอังกฤษของแต่ละประเทศก็มีสำเนียงและเอกลัษณ์ทางภาษาที่แตกต่างกันอีกด้วย ที่สำคัญเรามองว่าการเรียนภาษาอังกฤษในโรงเรียน ในหลักสูตรปกติ นั้นมันมีข้อบกพร่องอยู่หลายประการที่ไม่เกื้อกูล หรือส่งผลดีต่อการเรียนรู้ ยากที่จะนำสู่การใช้ได้จริง ดูเหมือนว่ายิ่งเรียน เด็กๆ ก็ยิ่งหลงทาง … ที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้น โรงเรียนเล็กๆ ในชนบทก็ขาดปัจจัยหลายด้านที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนการสอน เช่นขาดครูดีๆ ขาดอุปกรณ์ ขาดสื่อ ขาดงบประมาณ และที่สำคัญคือขาดการสร้างแรงจูงใจให้เด็กๆ ได้รู้สึกอยากเรียนอยากใฝ่รู้ด้วยตัวเอง
เอาหละข้อความอารัมภบทด้านบนดูเหมือนเป็นการวิจารณ์ที่ไม่ค่อยสร้างสรรค์นัก ซึ่งนี่แหละคือสไตล์ของชาว “อีฟค่า” ทุกคำพูดทุกมุมมองมันเกิดจากทัศนคติของพวกเราเท่านั้น เราไม่ได้ฟันธงว่าสิ่งที่เราคิดมันถูกหรือผิด แต่สิ่งนึงที่เราต้องยึดถือ ต้องทำต่อไปหลังจากการติ การติง คือการทำให้มันดีขึ้นมา ในเมื่อเรามองระบบการศึกษาโดยเฉพาะการเรียนภาษาอังกฤษ ในโรงเรียน ว่ามันไม่ดี แล้วอะไรละที่ดี เราก็ต้องทำให้มันดีขึ้นมาด้วยสมองและสองมือของเราสิ เราเพียงแค่ติ แค่คอมเพลนไปเรื่อยไม่ได้ มันไม่สร้างสรรค์และมันก็ไม่มีวันจะทำให้อะไรที่มันไม่ดีให้ดีขึ้นมาได้
“ลูกชาวนาจะต้องขายข้าวให้ฝรั่งในราคาแพงโดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง” นี่คือโจทย์ที่ชาว “อิฟค่า” จะต้องแก้ เราจะเข้าไปสอนภาษาอังกฤษให้เด็กๆ ในโรงเรียนขนาดเล็กๆ ในชนบท หรือสอนในโรงเรียน “โรงเรียนในทุ่งนา” ของเราเอง เราจะมุ่งเน้นการสร้างแรงจูงใจให้ผู้เรียนรู้สึกอยากจะแสวงหาความรู้เพิ่มเติมด้วยตัวเขาเองเป็นหลัก และการจัดการเรียนการสอนจะต้องสอดคล้องกับความเป็นจริง … และที่ขาดไปไม่ได้คือ การทำให้ผู้เรียนเกิดความภาคภูมิใจที่เกิดมาเป็นคนไทย ในผืนแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์และเต็มไปด้วยโอกาสในการพัฒนาชีวิตอย่างยั่งยืน “ความรักในรากเหง้า รักและห่วงแหนทรัพยากรธรรมชาติในถิ่นกำเนิด” ต้องผลิดอกออกผลเติบโตไปพร้อมกับวัยวุฒิของเด็กๆ ด้วยเช่นกัน
“กลับสู่ความโลกแห่งความเป็นจริงกันเถอะ”
การให้ผู้เรียนเริ่มเรียนภาษาอังกฤษ เราต้องทำให้เขาเป็นเสมือนเด็กทารกที่เพิ่งคลอดออกมาจากครรภ์มารดาซะก่อน เมื่อลืมตาออกมาดูโลกทารกก็เริ่มออกเสียงออกมาเป็นเสียงร้อง เมื่อผ่านวันคืนมาระยะนึงเขาก็เริ่มเรียก “แม่” ชัดบ้างไม่ชัดบ้าง พอโตขึ้นหน่อยก็เริ่มออกเสียงได้เป็นคำ ๆ เริ่มเข้าใจความหมายของคำพูดที่ตนเปล่งออกมา จนกระทั่งอายุประมาณ 1-2 ขวบ เขาก็เริ่มสร้างประโยคของตัวเอง ทำให้คนอื่นเข้าใจถึงแม้ประโยคนั้นจะเป็นประโยคพูดที่สลับกันไปมา ไม่ถูกไวยากรณ์ก็ตาม … หยุดไว้แค่นี้ก่อน นี่คือหลักการคิดง่าย ๆ ของพวกเราถึงการเรียนวิชาภาษาอังกฤษของเด็กไทย ที่ควรจะนำมาเป็นแนวทางในการจัดการกับระบบการเรียนรู้ สู่การนำไปใช้นำไปปฏิบัติ เราอยากให้คุณที่กำลังอ่านบทความนี้ช่วยกันครุ่นคิด หลับตาแล้วพิจารณาว่าอะไรคือสิ่งที่ควรจะเป็น สิ่งที่เราพยายามจะอธิบายนี้มันคือความเป็นจริงหรือไม่แค่ไหน อย่างไร ???
ดั้งนั้นการสอนภาษาอังกฤษของเราชาว “อิฟค่า” เราใช้หลักการง่ายๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้น คือ เราจะต้องค่อย ๆ ใส่ Keyword เป็นคำๆ ให้แก่ผู้เริ่มเรียนก่อน ใส่ไปเรื่อยๆ ได้แค่ไหนเอาแค่นั้น พร้อมกับสอดแทรกกิจกรรมสนุกสนาน และหาวิธีการทำให้เด็กชื่นชอบและต้องการสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษให้ได้ ลืมเรื่องความถูกต้องไปให้หมด แล้วฝังกลบ Grammar ที่เด็กๆ คุณเคย “ประธาน + กริยาช่อง 3 ช่อง 2 เติมโน่นเท่ากับนี่” พอ พอ พอ เร่งสร้างแรงจูงใจให้ได้เป็นอันดับแรกก่อนเลยเหอะ เมื่อแรงจูงใจเกิดขึ้นในใจของผู้เรียนแล้ว การเรียนรู้ก็จะเติบโตไปพร้อมกับเขาด้วยเช่นกัน เขาจะแสวงหาความรู้ด้วยตัวเอง เมื่อโอกาสที่สามารถใช้ภาษามาถึง เขาจะคว้ามัน ทั้งยังสามารถจดจำและพูดภาษาอังกฤษได้โดยไม่เคอะเขิน เขาจะกล้าที่จะเดินเข้าไป พูดเข้าไปสนทนากับชาวต่างประเทศโดยไม่สนใจว่าจะพูดผิดหรือถูก การสื่อสารตอบโต้ก็จะเริ่มขึ้นจนกระทั่งต่างฝ่ายต่างก็เข้าใจซึ่งกันและกันโดยอัตโนมัติ ถึงกระนั้นหากผู้เรียนต้องการพูด อ่านหรือเขียนภาษาอังกฤษให้ถูกต้องตามหลักภาษาก็เป็นเรื่องที่ไม่ยากเกินตัวอีกต่อไป เขาสามารถพัฒนาระดับภาษาเป็นขั้นเป็นตอนด้วยตัวของเขาเอง …
ลูกชาวนาเอ๋ย จงจำไว้ เจ้าเป็นตัวแทนของพ่อผู้เป็นกระดูกสันหลังของชาติ
เจ้าจงขายข้าวให้ได้ด้วยตัวเจ้าเอง เจ้าจงภูมิใจต่ออาชีพและวิถีแห่งบรรพชน